Last updated: 19 พ.ย. 2564 | 274 จำนวนผู้เข้าชม |
รถไฟ เป็นระบบคมนาคมที่คนไทยมีความคุ้นเคยและอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานถึง 124 ปีแล้ว แม้ว่าบางคนอาจจะไม่เคยใช้บริการ หรือไม่ได้ใช้เป็นประจำ แต่เนื่องจากระบบราง เป็นระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพสูง ในการขนส่งคนและสินค้าจากต้นทางสู่ปลายทาง ขณะที่ปัจจุบันรถไฟมีเทคโนโลยีทีทันสมัย หลายรูปแบบ และมีความสะดวกปลอดภัย ตรงเวลา ภายใต้ราคาค่าบริการที่สมเหตุสมผล และยังเป็นระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงให้ความสำคัญในการพัฒนาและลงทุนระบบรางอย่างมาก ในห้วงเวลาที่ผ่านมา
ตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่มุ่งเน้นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ด้านโลจิสติกส์โดยการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้เป็นโครงข่ายหลักในการขนส่งของประเทศ จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่ระบบราง จะเป็นส่วนในการขับเคลื่อนการค้าการลงทุน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งทางราง เพื่อช่วยลดระยะเวลาและต้นทุน ทั้งด้านการโดยสารและการขนส่งสินค้า อีกทั้งยังประหยัดการใช้พลังงานของประเทศในระยะยาว ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
ซึ่งแผนการพัฒนารถไฟไทยนั้น จะมี 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. การก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. โดยช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา-ชุมทางคลองสิบเก้า-ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 10,232.86 ล้านบาท และช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม.วงเงิน 24,326 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จแล้ว ส่วนอีก 5 เส้นทาง อยู่ระหว่างก่อสร้าง
ได้แก่ สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ 148 กม. วงเงิน 18,699 ล้านบาท สายอีสาน ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 กม.วงเงิน 29,968.62 ล้านบาท สายใต้
ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กม.วงเงิน 15,718 ล้านบาท ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ 84 กม. วงเงิน 5,807 ล้านบาท และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร 167 กม.วงเงิน 12,457 ล้านบาท
ทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง1,483 กม. ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอขออนุมัติ โครงการได้แก่ 1.ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย 2.ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ 3.ช่วงขอนแก่น-หนองคาย 4.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี 5.ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี 6.ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา 7.ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์
และรถไฟสายใหม่ที่ ครม.อนุมัติโครงการแล้ว 2 เส้นทาง ระยะทางรวม 678 กม. วงเงินรวม 128,379 ล้านบาท คือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของและ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม
นอกจากนี้รฟท.ยังมีในการพัฒนาทางคู่ในระยะถัดไป ซึ่งเป็นรถไฟสายใหม่ เป็นเส้นทางแตกแขนง ออกจากสายหลัก เพื่อเชื่อมโยงไปยังจังหวัด สำคัญ และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง จำนวน 12 เส้นทาง ระยะทางรวม1,738 กม.ประเมินวงเงินลงทุน 355,758.50 ล้านบาท จะเพิ่มเส้นทางเป็น 6,463 กม. จาก 47 จังหวัดที่มีรถไฟผ่าน จะเพิ่มขึ้นเป็น 61 จังหวัด
2. การพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (high speed rail) ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นทางเลือกในการเดินทาง โดยเป็นระบบรถไฟที่มีความเร็วสูงสุดประมาณ 250 กม./ชม. ทางมีความกว้าง 1.435 เมตร จำนวน 4 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,654 กม. ประกอบด้วย
ระยะเร่งด่วน สายอีสานกรุงเทพฯ -นครราชสีมา
253 กม. และ นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. (ความร่วมมือไทย-จีน) , สายตะวันออก
ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา 220 กม. (บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด รับสัมปทาน) สายเหนือ กรุงเทพ-พิษณุโลก 380 กม.
ระยะกลาง สายใต้ กรุงเทพ-หัวหิน 211 กม. สายตะวันออก ระยอง-จันทบุรี-ตราด 190 กม. สายเหนือพิษณุโลก-เชียงใหม่ 288 กม.
ระยะยาว สายใต้ หัวหิน-สุราษฏร์ธานี 424 กม. และสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ 335 กม.
3. การจัดหาหัวรถจักรและล้อเลื่อนการพัฒนาระบบโทรคมนาคมและอาณัติสัญญาณ
ซึ่งแผนพัฒนารถไฟทางคู่ ขนาดราง 1 เมตรนั้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ไม่ต้องเสียเวลารอสับหลีกสามารถเพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถไฟโดยสารเป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง และรถไฟขนส่งสินค้าเป็น 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้การเดินทางโดยรถไฟสามารถแข่งขันกับระบบถนนได้
@กรมรางลุยศึกษาแผนพัฒนารถไฟฟีดเดอร์เชื่อมโครงข่ายหลัก
แม้จะมีแผนก่อสร้างรถไฟทางคู่เพิ่มถึง16 เส้นทางระยะทางรวม 3,154 กม. แต่ส่วนใหญ่ เป็นการก่อสร้างทางเพิ่มอีก 1 ทางคู่ไปตามแนวรถไฟเดิม ในขณะที่ปัจจุบันการพัฒนาพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทั้งแหล่งอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และชุมชน
ดังนั้นเส้นทางรถไฟที่มี จึงอาจยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่ระจายอยู่ทั่วประเทศ แหล่งอุตสาหกรรม ที่ต้องการให้มีระบบรางเข้าถึงช่วยการกระจายสินค้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดต้นทุน อย่างแท้จริง
ปัจจุบันกรมการขนส่งทางราง (ขร.) จึงได้ว่าจ้าง ที่ปรึกษาวงเงิน 25.74 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ (R-Map) ใช้เวลาศึกษา 12 เดือน
โดยเป็นการพัฒนาและปรับปรุงโครงข่ายรถไฟไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างทางคู่ และทางสายใหม่ พร้อมทั้งพัฒนาระบบโทรคมนาคม และอาณัติสัญญาณ รถจักรและล้อเลื่อน เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางกลายเป็นระบบหลักในการเดินทางและการขนส่งสินค้าของประเทศ
รวมทั้งนำผลการศึกษาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ มาพิจารณา และ จะต้องสำรวจ/รวบรวมข้อมูล/ปัญหาอุปสรรคในการขนส่งและความต้องการในพื้นที่ ทั้งจากประชาชน ผู้ประกอบการทุกแขนง
มีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน จำนวนประชากร ปริมาณการขนส่ง ฐานการผลิต ทางการเกษตร ด้านอุตสาหกรรม โครงข่ายคมนาคมทุกรูปแบบที่มีในพื้นที่ รวมไปถึงวิเคราะห์ความต้องการเดินทาง เพื่อคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและสินค้าในอนาคต
@ต่อเส้นทางรถไฟแขนงย่อย เชื่อมโยงเข้าพื้นที่เศรษฐกิจ
“พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์” รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.)กล่าวว่า การศึกษา R-Map นี้ เพื่อหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าจากพื้นที่เศรษฐกิจ แหล่งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมของจังหวัดต่างๆ รวมถึงเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือในการให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและศูนย์บริการโลจิสติกส์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าและเดินทาง
โดยจะเป็นการนำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟมาทบทวนและต่อยอดโครงข่ายเส้นทางเดิมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งทบทวนและพัฒนาการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม การพัฒนาพื้นที่ในระดับภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รูปแบบต่าง ๆ
เมื่อดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จจะมีการจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเหมาะสมกับสถานะปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
โดยบูรณาการร่วมกับการคมนาคมขนส่งอื่นๆรวมทั้งเสนอแนะการลงทุนตามลำดับความสำคัญและความจำเป็นแต่ละเส้นทางในโครงการต่าง ๆ ในภาพรวมของประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อเป็นส่วนช่วยในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 และรองรับการลงทุนหลังจากการเปิดประเทศต่อไป
ปัจจุบัน กระทรวงคมนาคม มีแผนแม่บทโครงข่าย MR-Map ที่มีแนวคิดในก่อสร้างมอเตอร์เวย์ กับระบบราง ควบคู่ไปในแนวเส้นทางเดียวกัน จำนวน 10 เส้นทาง ซึ่งถือเป็นเส้นทางหลัก ส่วน R-Map นี้จะมีลักษณะเป็นเส้นเลือดฝอย เป็นรถไฟสายสั้นๆ ใช้เงินลงทุนไม่มาก โดยจะแยกออกจากสายหลักต่อเชื่อมไปยังจุดหรือพื้นที่ ที่มีศักยภาพ เช่น ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ,ท่าเรือมาบตาพุด, นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
“เป็นการเติมโครงข่ายรถไฟให้เต็มโดยเชื่อมไปยังพื้นที่มีศักยภาพหรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต่อไป”
@พรบ.การขนส่งทางราง เครื่องมือหลักขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย
เบื้องต้น มองว่าแนวทางลงทุน เป็นได้ทั้ง เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนนการแบบเบ็ดเสร็จ ทั้งก่อสร้างทาง จัดหารถจักร ล้อเลื่อนและให้บริการ หรือภาครัฐอาจต้องเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และให้เอกชนลงทุนส่วนที่อยู่เหนือรางและบริหารการเดินรถ โดยจ่ายค่าใช้ทางให้กับภาครัฐ
ซึ่งขณะนี้ ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางรางได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา หากมีผลบังคับใช้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สามารถเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายรองได้ ในอนาคต
นอกจากนี้วางแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟเพิ่มแล้ว จะต้องศึกษาด้านการตลาด ธุรกิจ เพื่อให้มีรถไฟมาวิ่งให้บริการอย่างคุ้มค่าด้วย ซึ่งการศึกษา จะครอบคลุมทั้งหมด
@เร่งทำแผนการตลาด ทางคู่เฟส 2 ตอบคำถามสศช.
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ของการรถไฟฯ จำนวน 7 เส้นทาง ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แต่สศช.ยังไม่สามารถพิจารณาได้ เนื่องจากไม่มีแผน การเดินรถ แผนการตลาด แผนธุรกิจ ในการสร้างรายได้เพื่อรองรับการลงทุนเพราะกังวลว่า สร้างทางเสร็จแล้วไม่มีรถวิ่ง ซึ่งกรมรางฯ จะช่วยศึกษาในส่วนนี้ด้วย คาดว่าใช้เวลาประมาณ 6 เดือน
“สศช.ต้องการคำตอบเรื่องแผนธุรกิจแผนการตลาดจำนวนผู้โดยสาร สินค้า การกำหนดค่าโดยสาร ค่าระวาง รวมไปถึงรูปแบบแพคเกจท่องเที่ยว และระบบตั๋วใหม่ ๆ เพราะรถไฟทางคู่ใช้เงินลงทุนสูง ขณะนี้ยังมีเวลาศึกษาวิเคราะห์ ให้รอบด้าน ...ไม่ถือว่าล่าช้าและเมื่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยุติ จะพร้อมนำเสนอเพื่อขออนุมัติ”
ประเทศไทย คาดหวังว่าโครงข่ายรถไฟทางคู่จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งผู้โดยสารได้เพิ้มขึ้น79.90 ล้นคน/ปี ขนส่งสินค้าเพิ่มเป็น 46.89 ล้านตัน/ปี สนับสนุนให้สินค้าเกิดการชิฟโหมดมาใช้ราง จาก 1.4% เพิ่มเป็น 18.2% และ 29.7% ตามลำดับ ส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ลดลงจาก14.2% เหลือ 11.9% ต้นทุนค่าขนส่งต่อ GDP ลดลงจาก7.4% เหลือ 6.7%
คงถึงเวลาแล้ว...ที่จะต้องพิจารณาเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมใช้ทางรถไฟ เข้ามาร่วมลงทุนให้บริการเดินรถ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้าในเส้นทางที่มีศักยภาพ โดยจ่ายค่าเช่าใช้ทางให้กับ การรถไฟฯ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์รางให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนสูงสุด..และเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน