Last updated: 27 ธ.ค. 2564 | 424 จำนวนผู้เข้าชม |
“กรมราง” เดินหน้าศึกษา R-Map หวังพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม เชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศรองรับขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ
ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า กรมฯได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ หรือ R-MAP เพื่อทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ เพื่อการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศ รวมทั้งรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายเดิมกับแหล่งเกษตรกรรม แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม และประเทศเพื่อนบ้าน ในพื้นที่ในระดับจังหวัดและระดับภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์รูปแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายโอกาส การพัฒนาความเจริญสู่ระดับจังหวัด และภูมิภาค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการเดินของประชาชน
ขณะเดียวกันกระทรวงคมนาคมจึงได้ดำเนินการเร่งรัดผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งทางราง โดยดำเนินการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการจัดหาหัวรถจักร ล้อเลื่อน และการพัฒนาระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อให้เป็นการขนส่งทางรางกลายเป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และลดต้นทุนทั้งการขนส่งสินค้าและการโดยสาร
สำหรับโครงการ R-map เป็นอีกหนึ่งการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในปี 2565-2566 ด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งทางรางเพื่อบูรณาการ โครงข่ายระบบรางสร้างความสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จะนำไปจัดทำแผนการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อให้เกิดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการบูรณาการร่วมกับการขนส่งระบบอื่นๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในภาพรวมของประเทศ
ทั้งนี้การสัมมนา R-map เป็นการเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการแก่กลุ่มเป้าหมายให้ได้รับทราบ รวมถึงเปิดโอกาสในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการการศึกษาโครงการ โดยมีขอบเขตการศึกษา 4 ส่วนประกอบด้วย 1.การทบทวน สำรวจ รวบรวมข้อมูลผลการศึกษาและการดำเนินงานของแผนงานโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 2.การศึกษาวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศฯ 3.การจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุมและเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศฯ โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ 5.การมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ดำเนินการศึกษาดังกล่าวเกิดความครบถ้วน สมบูรณ์ และเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป
ที่ผ่านมารัฐบาลมีความต้องการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายในการการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติ ซึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (7) ประเด็นโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล (พ.ศ. 2561-2580) ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับและสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เพื่อให้สามารถสนับสนุนการขนส่งสินค้าต่อเนื่องหลายรูปแบบอย่างไร้รอยต่อและสอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเกษตรกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ