Last updated: 25 ก.พ. 2565 | 364 จำนวนผู้เข้าชม |
นายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนา โครงข่ายรถไฟให้ครอบคลุม และเชื่อมโยงพื้นที่ทั่วประเทศและรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้อย่างไร้รอยต่อ(R- map) ณ.โรงแรมฝ้ายขิด ต.บุ่ง อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ โดยมี นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.พิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางลางผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมผู้ประกอบการ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้
นายธนูสินธ์ ไชยสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า แผนพัฒนาจังหวัดอำนาจเจริญ พ.ศ.2561 – 2565 สรุปปัญหาและความต้องการโดยรวมของจังหวัด พบว่า ปัญหาการคมนาคมไม่สะดวกก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนถนนบ่อยครั้ง เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนรวมถึงปัญหาการพัฒนาระบบการค้าชายแดน ไทย – ลาว ให้เป็นถนนสายวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ดังนั้น จังหวัดอำนาจเจริญจะมีเส้นทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน 2 ฝั่งแม่น้ำโขง และเชื่อมต่อกับนิคมอุตสาหกรรม จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อจังหวัด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการเดินทางของประชาชนและขนส่งสินค้าทางการเกษตร รวมถึงพัฒนาและเพิ่มความสะดวกให้การค้าขายแดน ไทย – ลาว ในอนาคต
ด้านนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงข่ายคมนาคมทางลางสู่ภาคอีสานนั้น มีรถไฟความเร็วสูง 1 เส้นทาง โดยเป็นรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ ในเส้นทาง กรุงเทพฯ – หนองคาย เป็นการเปิดประวัติศาสตร์การเดินทางด้วยรถไฟโดยเชื่อมโยงจาก กรุงเทพฯไปภาคอีสาน ผ่าน สปป.ลาว ไปสาธารณรัฐประชาชนจีน
โดยภาคอีสานในอนาคตจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และได้เสนอรถไฟสายใหม่กว่า 9 เส้นทาง ซึ่งหนึ่งในเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่เสนอให้ทำการศึกษาจะพาดผ่านจังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟของภูมิภาค เชื่อมโยงจังหวัดนครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดอำนาจเจริญ การท่องเที่ยว เพิ่มความสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในการเดินทางและขนส่งสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
ส่วน ดร.พิเชษฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า โครงการ R – map) กรมการขนส่งทางราง ศึกษาระยะเวลา 1 ปี ระหว่างกรกฎาคม 2564 ถึง กรกฎาคม 2565 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชุมกลุ่มย่อยกับผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั่วทั้งประเทศ
โดยจะมีการจัดทั้งหมด 5 ครั้ง ในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันตก โดยได้มีการจัดครั้งแรกจัดที่กรุงเทพมหานคร และจัดครั้งที่ 2 ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ระบบทางรางมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – หนองคาย โครงการรถไฟรางคู่ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และสายใหม่รวม 9 เส้นทาง ในอนาคตต่อผลการศึกษาเบื้องต้น ได้กำหนดเส้นทางรถไฟสายใหม่อีก 1 สาย คือ สายอุบลราชธานี – อำนาจเจริญ – มุกดาหาร ซึ่งมีระยะทาง 173 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี
โดยโครงการดังกล่าว จะลดเวลาการขนส่งสินค้าจากจังหวัดอำนาจเจริญ ผ่านนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ไปสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 จังหวัดหนองคาย ให้เหลือเพียง 8 ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องอ้อมไปที่ชุมทางจิระก่อน ค่อยขึ้นไปหนองคายใช้เวลา 18 ชั่วโมง ทางฝั่งใต้สามารถเชื่อมต่อไปยังท่าเรือแหลงฉบัง ได้ข้อดีอีกอย่าง คือ โครงการนี้ จะเชื่อมสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 3 อุบลราชธานี มุกดาหาร และนครพนม ไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้การค้าชายแดนมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น...